กระบี่กระบอง http://saran.siam2web.com/

 

 

ประวัติความเป็นมาของกระบี่ - กระบอง

                เริ่มต้นกระบี่กระบองที่แท้จริงนั้นไม่ทราบได้แน่ชัดว่า  เริ่มกันมาตั้งแต่ครั้งไหนและใครเป็นผู้คิดค้นขึ้นเพราะไม่สามารถค้นคว้าจากแหล่งใดได้  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะท่านครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ ไม่เคยเรียนและได้เคยสอนแต่ในทางปฏิบัติอย่างเดียวมิได้ห่วงใยในอันที่จะสั่งสอนในทางทฤษฏีเลย ฉะนั้นศิษย์จึงขาดความรู้ในทางนี้กันเสียสิ้น  แต่ด้วยที่เหตุที่ไทยเราเป็นนักรบแต่โบราณกาล  กระบี่กระบองจึงเป็นเกมของนักรบก็น่าจะได้ริเริ่มกันเป็นเวลานานมาแล้วด้วยเหมือนกัน หลักฐานที่พอจะอ้างอิงได้นั้นคาดว่าคงมีแล้วในรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธิ์ไว้ในหนังสืออิเหนา ซึ่งเป็นข้อความตอนหนึ่งว่า

                " เมื่อนั้นท้าวหมันหยาปรีเปรมเกษมสันต์ เห็นอิเหนาเข้ามาบังคมคัล จึงปราศรัยไปพลันทันที ได้ยินระบือลือเล่า ว่าเจ้าชำนาญการกระบี่ ท่าทางทำนองคล่องดี วันนี้จงรำให้น่าดูแล้วให้เสนากิดาหยัน จัดกันขึ้นตีทีละคู่ โล่ดั้งดาบเชลยมลายู จะได้ดูเล่นเป็นขวัญตา "  ตามข้อความที่กล่าวนี้ย่อมจะชี้ให้เห็นว่า กระบี่กระบองคงเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนี้ด้วย 

                ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ท่านสุนทรภู่ได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ สององค์พี่น้อง ทูลลาสมเด็จพระราชบิดาไปป่าเพื่อแสวงหาวิชาความรู้อันเป็นประเพณีนิยมจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ซึ่งในที่สุดก็ได้พบเล้าเรียนกับอาจารย์ ผู้ซึ่งมีวิชาต่างกัน ดังปรากฏในข้อความตอนหนึ่งว่า " สิบห้าวันดั้นเดินในไพรสณฑ์ ถึงตำบลบ้านหนึงใหญ่หนักหนา เรียกว่าบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา มีทิศาปาโมกข์อยู่สองคน อาจารย์หนึ่งชำนาญในการปี่ ทั้งดีดสีแสนเสนาะเพราะหนักหนา ผู้ใดฟังวังเวงในวิญญา เคลิ้มนิทราลืมกายดังวายปราณ

               ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานกระบี่กระบองเป็นพิเศษ ถึงกับโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ทรงหัดกระบี่กระบองจนครบวง และเมื่อปีขาล พุทธศักราช ๒๔o๙ ซึ่งเป็นปีที่กำหนดให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี ครั้นเมื่อพระองค์ทรงผนวชแล้วโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอแต่งพระองค์อย่างราชกุมาร ทรงเล่นกระบี่กระบองเป็นการสมโภชที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรรัตนศาสดาราม  เจ้าหน้าที่ทรงกระบี่กระบองในครั้งนั้น คือ  

      คู่ที่ ๑  กระบี่กระบอง  เจ้าฟ้าตุรนรัศมี (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์) พระองค์เจ้ากัมลาศเลอสรร (กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร)

      คู่ที่ ๒  พลอง  พระองค์เจ้าคัดนางยุคล (กรมหลวงพิชิตปรีชากร) พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ (กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์)

      คู่ที่ ๓  ง้าว  พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ (กรมหลวงอดิศรอุดรเดช) พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ (กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม)

      คู่ที่ ๔  ดาบ ๒ มือ  พระองค์เจ้าอุนากรรณอนันตนรชัย พระองค์เจ้าชุมพลรัชสมโภช (กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์)

                การเล่นกระบี่กระบองเริ่มฟักตัวเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้เอง เพราะตามปกติ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดกีฬาอะไร กีฬาชนิดนั้นก็ย่อมเจริญและเฟื่องฟู ประชาชนพลเมืองก็หันหน้ามาเอาใจใส่ตามไปด้วย ฉะนั้นกระบี่กระบองจึงเล่นกันแพร่หลายในงานสมโภชต่างๆ เช่น งานโกนจุกืงานบวชนาค งานทอกกฐิน งานทอดผ้าป่า ฯลฯ

                เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในรัชกาลที่ ๔ ทรงเล่นกระบี่กระบองเป็นหลายพระองค์เช่นนี้ เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงกีฬาชนิดนี้เป็นในครั้งนั้นด้วยพระองค์เองด้วยเหมือนกันเพราะตามหลักฐานปากฏว่า พระองค์ได้เคยทรงวิชามวยและวิชากระบี่กระบอง ฟันดาบกับหลวงพลโยธานุโยค ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงเล่นเป็นนี้เองในรัชกาลของพระองค์ พระองค์จึงได้โปรดฯ ให้มีการตีกระบี่กระบองและชกมวยไทยหน้าพระที่นั่งในงานสมโภชอยู่เนืองๆ  พระองค์เสด็จทอดพระเนตรและพระราชทานรางวัลแก่ผู้แสดงและแข่งขันบ่อยๆ ฉะนั้นกระบี่กระบองจึงเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันมากในกรุงเก่า และอาจจะดูได้หลายครั้งในปีหนึ่งๆ สมัยนี้เป็นสมัยที่นิยมชมชอบกันมากที่สุด จึงทำให้กระบี่กระบองมรอยู่ดาษดื่น และมีมากคณะด้วยกัน

                 ครั้นถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๖  ความครึกครื้นในการเล่นกระบี่กระบองชักจะลดน้อยลงไป ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุลเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงฝักใฝ่ในวิชานาฏศิลป์ และทรงเข้าพระทัยในศิลปะของวิชากระบี่กระบองก็ตาม แต่ก็ไม่ทรงโปรดปรานมากเท่ากับพระราชบิดาของพระองค์ ถึงกระนั้น ก็ยังมีการจัดกีฬาชนิดนี้ขึ้นถวายเพื่อถวายทอดพระเนตรบ้างเป็นครั้งคราว เช่น ในปีพุทธศักราช ๒๔๖o กับ ๒๔๖๒ กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในงานกีฑาประจำปี ได้จัดงานแสดงกระบี่กระบองขึ้นถวายทอดพระเนตรที่สนามหญ้าสามัคยาจารย์สมาคม ในการแสดงทั้งสองครั้งนี้ ท่านอาจารย์ นาคเทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้แสดงถวายทั้งสองครั้ง ครั้งแรกถวายง้าว ครั้งหลังแสดงพลอง ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุลเกล้าเจ้าอยู่หัว กระบี่กระบองชักน้อยลงไป แต่มวยเป็นที่นิยมมากขึ้น เช่น สมัยที่มีการแข่งขันเก็บเงินค่าผ่านประตูเพื่อซื้ออาวุธให้เสือป่าที่สนามสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นต้น รู้สึกว่าสนุสนานครึกครื้นยิ่งอยู่พักหนึ่ง ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ กระบี่กระบองก็ค่อยๆ หมดไปๆ จนเกือบจะหาดูไม่ค่อยได้

                 ท่านอาจารย์ นาคเทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้หนึ่งที่ได่เล่าเรียนวิชานี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กและเป็นผู้ที่รักใคร่ในศิลปะวิชานี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านได้แลเห็นต่างชาติเขาภูมิใจในศิลปะประจำชาติของเขา เช่น ชาติเยอรมันและญี่ปุ่น เขายกย่องวิชาฟันดาบและวิชายูโดของเขาว้าเป็นเลิศ พยามสงวนและเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่โลกมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้ท่านบูชาวิชากระบี่กระบองของไทยไว้เหนือสิ่งใดๆ มากขึ้น เพียงนั้น โอกาสที่ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนพลศึกษากลาง ท่านได้เริ่มสั่งสอนนักเรียนพลศึกษากลางขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘  ทดลองสอนอยู่ ๑ ปี  ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจของท่านผู้ใหญ่ จึงได้กำหนดวิชากระบี่กระบองไว้ในหลักสูตรของประโยคครูผู้สอนพลศึกษา เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นับแต่นั้นมาได้มีผู้เล่าเรียนและสำเร็จมากขึ้นเป็นลำดับ
   


        

 

 

 

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 115,514 Today: 2 PageView/Month: 70

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...